picture1

หลักการและเหตุผล

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ข้อมูลรหัสพันธุกรรรมมนุษย์และการประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) ภายใต้นโยบายการแพทย์ในยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งในขณะนี้มีหลายหน่วยงานของคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ข้อมูลรหัสพันธุกรรรมมนุษย์และการประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในแง่มุมต่างๆ อาทิเช่น โครงการดิจิทัลแซนด์บอกซ์ (Digital Sandbox) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสะดวกและคล่องตัวในการเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบ Hospital Information System (HIS) และศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้วิจัยในคณะแพทยศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมในภาคเอกชน แต่ทั้งนี้ การที่จะสนับสนุนให้บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลและข้อมูลรหัสพันธุกรรรมมนุษย์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลจำนวนมากซึ่งได้แก่ระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายประสิทธิภาพสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการทางการคำนวณของโครงการวิจัยที่หลากหลาย และการจัดตั้งหน่วยงานภายในคณะแพทยศาสตร์ที่ประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านงานวิจัยภายในที่ครบวงจรและการถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรและนิสิตของคณะแพทยศาสตร์

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัย ซึ่งอาศัยการจัดการและการประมวลผลข้อมูลดิจิทัล ข้อมูลรหัสพันธุกรรรมมนุษย์และการประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข
  2. ปฏิบัติงานวิจัยมุ่งเป้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบแม่นยำที่สอดคล้องกับนโยบายในระดับชาติ และนำไปสู่ความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการแข่งขันเพื่อขอทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกในระดับชาติและระดับโลก
  3. จัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลดิจิทัล ข้อมูลรหัสพันธุกรรรมมนุษย์และการประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข
  4. ให้ความรู้และความสนับสนุนเชิงเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์แก่ผู้วิจัยภายในคณะแพทยศาสตร์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ไปจนถึงการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์และซอฟแวร์

 

สามารถ ขอใช้บริการ CU-AIM ได้ที่  📥